หลายคนคงได้ยิน หรือคุ้นหากับตำรับยา สมุนไพรห้าราก หรือ สมุนไพร 5 ราก ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด 19 มีการพูดถึง สมุนไพรห้าราก มากขึ้น ไม่แพ้กับฟ้าทะลายโจรเลย เพราะเป็นตำรับยาโบราณ ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ใช้ในการดับร้อน แก้ฤทธิ์ไข้ หรือถอนพิษไข้ต่างๆ
สมุนไพรห้าราก
ตำรับ ยาสมุนไพรห้าราก
สมุนไพรห้าราก หรือ สมุนไพร 5 ราก หรือ ยาเบญจโลกวิเชียร หรือ ยาแก้วห้าดวง หรือยาเพชรสว่าง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นชื่อจากตำรับเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน แต่ละชื่อก็มีความบ่งบอกแหละค่ะว่าเกี่ยวกับอะไรสักอย่างกับ เลข 5 และ สมุนไพร เลข 5 มันคืออะไร ถึงกับมีความสงสัยในบางคน ว่า สมุนไพรห้าราก ทำมาจากสมุนไพรที่ชื่อเรียกว่า ห้าราก ซึ่งในบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยกันค่ะ ว่าสมุนไพรห้ารากนั้น คืออะไรกันค่ะ
สมุนไพรห้าราก คืออะไร
จริง ๆ แล้วตำรับ สมุนไพรห้าราก นั้น เป็นตำรับยาสมุนไพรที่ประกอบไปด้วยส่วนของรากสมุนไพร ถึง 5 ชนิด นี่ไงล่ะคะถึงเป็นที่มาของการเรียกว่ายา สมุนไพรห้าราก หรือ สมุนไพร 5 ราก นำมาผสมรวมกัน ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน
แล้วรากสมุนไพรอะไรบ้างล่ะ ที่นำมารวมกันในตำรับ ยาสมุนไพรห้าราก
รากสมุนไพรที่ว่าเหล่านั้น ได้แก่
-
รากคนทา (Harrisonia perforata(Blanco) Merr
คนทา เป็นไม้พุ่มแกมเถา ความสูงโดยประมาณ 3-6 เมตร เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Simaroubacea ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน สำหรับประเทศไทยนั้น พบว่าต้นคนทาสามารถขึ้นทั่วไปในป่าตามธรรมชาติ ทนความแล้งได้ดีมาก พบมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน การขยายพันธุ์ ก็ง่ายมากโดยการเพาะเมล็ด
รสชาติของรากคนทา จะมีรสขมเฝื่อน อาจจะฟังน่าจะรับประทานยาก แต่สรรพคุณคนทานั้นช่วยในเรื่อง แก้ไข้ ดับร้อน แก้ไข้เหนือ แก้ไข้พิษ แก้ท้องร่วง แก้กระหายน้ำ กระทุ้งไข้ ไข้กาฬ แก้ร้อนใน ได้ยินแบบนี้ก็ต้องยอมทนกับรสที่เฝื่อนแหละค่ะ ถ้าอยากหายจากอาการไข้ ดับร้อน
พบว่าสารสำคัญที่พบในรากคนทา ได้แก่ สาร Heteropeucenin, 5 –methoxy: 7-methylether; Heteropeucenin-7-methyl ether; obacunone; perforatic acid; perforatin A; perforatin B และ ยังมีสารที่มีฤทธิ์ต้านฮิสตามีน Antihistamine ที่ช่วยลดอาการแพ้ต่างๆ ด้วย
-
รากชิงชี่ (Capparis micracantha)
ชิงซี่ มีชื่อสามัญว่า Caper thorn เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ขนาดความสูงของต้นโดยประมาณ 1-6 เมตร ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ CAPPARACEAE ต้นชิงชี่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ตามสภาพดินแห้ง เขาหินปูนที่แห้งแล้ง ภูเขา หินปูนใกล้กับทะเล ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าโปร่งทั่วไป พบได้ทุกภาคในประเทศไทย และในต่างประเทศก็พบว่ามีต้นชิงชี่ด้วยเช่นกัน ได้แก่ พม่า อินโดจีน มาเลเซีย จีน อินเดีย
ส่วนของราก เมื่อนำมาต้มดื่มกิน จะมีรสขมขื่น สรรพคุณ แก้ไข้ โรคกระเพาะ ขับลม ขับปัสสาวะ รากและใบตำพอกแก้ฟกช้ำบวม ใบต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง
-
รากเท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum(L.) Kuntze
ท้าวยายม่อม อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE เป็นพืชที่เป็นไม้พุ่มขนาด ความสูงโดยประมาณ 1-2.5 เมตร มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ช่วงที่มีดอกจะออกช่วงเดือนเมษายน
ในส่วนของรากท้าวยายม่อม มีสารที่ชื่อ Flavonoids ได้แก่ pectolinarigenin, hispidulin รากเท้ายาวม่อมมีรสจืดขื่น และมีสรรพคุณในยาไทย ขับเสมหะ ดับพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ พิษกาฬ ลดความร้อนในร่างกาย กระทุ้งพิษไข้หวัด ไข้เหนือ ขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ ถอนพิษไข้ทุกชนิด
-
รากมะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa)
มะเดื่อชุมพร หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า มะเดื่ออุทุมพร มีชื่อสามัญว่า Cluster Fig, Goolar Fig , Gular เป็นไม้ยืนขนาดกลางถึงสูง ที่มีความสูงโดยประมาณ 5-20 เมตร เลยทีเดียว จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ MORACEAE พบขึ้นในป่าตามริมธารในธรรมชาติ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง
รากมะเดื่อชุมพร มีรสฝาดเย็น สรรพคุณ แก้ปวด ลดไข้ แก้พิษไข้ ไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่อวัยวะภายใน หรือที่ผิวหนัง) แก้ร้อนในกระหายน้ำ มีสารสำคัญที่อยู่ในส่วนของรากมะเดื่อ ได้แก่ เบอร์แกปแทน Bergapten และไฟรเดลิน (Friedelin) สารกลุ่มสเตียรอย (Sterols) ได้แก่ เดาโคสเตียรอล (daucosterol) และสทิกมาสเตียรอล (stigmasterol) เป็นต้น
-
รากย่านาง (Tiliacora triandra(Colebr.) Diels
ย่านาง มีชื่อสามัญว่า Bamboo grass จัดเป็นพืชในวงศ์ MENISPERMACEAE เป็นพืชที่มีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อย เถาลักษณะกลมและเล็ก และก็ชอบที่จะเลื้อยพันตามต้นไม้ หรือกิ่งไม้ เถาสีเขียว ยาว 10-15 เมตร โดยประมาณ เป็นพืชที่ขึ้นง่าย และพบได้ทั่วไปในประเทศไทย
ส่วนของย่านางที่นำมาใช้ในตำรัยสมุนไพรห้าราก คือส่วนของราก ที่มีรสจืด ออกขม โดยมีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้พิษเมาเบื่อ กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษสำแดง นำมาต้มดื่มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น ขับพิษ ยาแก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้หัว ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้ป่าเรื้องรัง ไข้ทับระดู บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้พิษภายในให้ตกสิ้น แก้โรคหัวใจบวม แก้กำเดา แก้ลม แก้ไข้จับสั่น แก้เมาสุรา รากผสมกับรากหมาน้อย ต้มกินแก้ไข้มาลาเรีย
จากการนำสมุนไพรทั้ง 5 ชนิด มาเล่าถึงสรรพคุณ และสาระสำคัญ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมุนไพรห้าราก หรือ สมุนไพร 5 ราก จึงได้ชื่อว่า ลดไข้ ดับร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ และเหมาะในการนำมาในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด 19 มาดูกันค่ะ สมุนไพรห้าราก จะนำมาใช้กันอย่างไร
ตำรับ ยาสมุนไพรห้าราก และการนำไปใช้
ในสูตรตำรับ สมุนไพรห้าราก ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วยรากคนทา รากชิงชี่ รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร รากย่านาง หนักสิ่งละ 20 กรัม
ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้ ลดอาการร้อนใน กระหายน้ำ
ขนาดและวิธีใช้ ยาสมุนไพรห้าราก : ชนิดผง ชนิดแคปซูล และชนิดเม็ด
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.5 ก หรือครั้งละ 2-3 แคปซูล ทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการไข้ ตัวร้อน
เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มก – 1 ก หรือครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
หมายเหตุ : ชนิดผงให้ละลายน้ำสุกก่อนรับประทาน
ข้อควรระวัง
- ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
- หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
- ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดู หรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน
ปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 มีการนำสมุนไพรต่างๆ มาใช้เพื่อป้องกัน ลดอาการจากการติดเชื้อ เช่นอาการไข้ ไอ หนึ่งในตำรับยาลดอาการไข้ที่ใช้มาตั้งแต่โบราณ และอยู่ในบัญชียาหลัก คือ สมุนไพรห้าราก หรือยาสมุนไพร 5 ราก หรือ ยาเบญจโลกวิเชียร หรือ ยาแก้วห้าดวง หรือยาเพชรสว่าง ที่มีฤทธิ์ดับร้อน แก้ฤทธิ์ไข้ หรือถอนพิษไข้ต่างๆ ในตำรับยาประกอบด้วยรากสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ รากคนทา รากเท้ายายม่อม รากชิงชี่ รากมะเดื่อชุมพร และรากย่านาง ในอัตราส่วนที่เท่ากัน ปัจจุบันมีการนำตำรับยา สมุนไพรห้าราก นี้มาต้มดื่มเพื่อลดไข้ หรือนำรากสมุนไพรทั้ง 5 ชนิด บดเป็นผง บรรจุแคปซูล เพื่อสะดวกในการรับประทาน แนะนำให้รับประทานวันละ 3 เวลา ตามอายุ และขนาดของร่างกาย และใช้เมื่อมีอาการไข้ ปัจจุบันมีสมนะไรห้ารากจำหน่ายมากมาย ควรเลือกหาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน และคุณภาพ หากสนใจสมุนไพร เพื่อนำมาปรุงตำรับยา หรือสนใจหาผงสมุนไพร สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้นะคะ